ปลัด ศธ.อ้างความเป็นธรรมหลังเอกชนขยับ จวก สพฐ.ทำโรงเรียนสับสน
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึง การจัดพิมพ์แบบเรียน ประจำปีการศึกษา 2558 ขององค์การค้าของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ตนได้สอบถามเรื่องดังกล่าวในการประชุมบอร์ดองค์การค้าฯ พร้อมทั้งได้มอบหมายให้จัดทำแผนการจัดพิมพ์แบบเรียนให้ชัดเจน โดนเน้นย้ำว่าต้องจัดพิมพ์และจัดส่งก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 อย่าให้เกิดปัญหาจัดพิมพ์ล่าช้าและจัดส่งไม่ทันเหมือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จะขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ช่วยสนับสนุนการจัดซื้อแบบเรียนกับองค์การค้าฯด้วย เพราะเป็นหนังสือที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง มีคุณภาพและบางรายการราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ส่วนกรณีสำนักพิมพ์เอกชนขอปรับขึ้นราคาหนังสือนั้น ทราบว่า สพฐ.ได้ขอความร่วมมือในการตรึงราคา ซึ่งในส่วนขององค์การค้าฯ ได้ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาแบบเรียนมาโดยตลอด เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง ซึ่งตนรู้สึกเห็นใจองค์การค้าฯเพราะมีการตรึงราคามานานนับ 10 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาส ได้ปรับราคาขึ้น ทั้งที่บางรายการต้นทุนก็ขยับเพิ่มทุกปี ดังนั้น อาจต้องมาพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับองค์การค้าฯด้วย หากจะขอปรับราคาเพิ่มขึ้นในบางรายการที่ตรึงราคาไม่ไหวจริงๆ ไม่เช่นนั้นคงอยู่ไม่ได้เช่นกัน
ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารสำนักพิมพ์เอกชนรายหนึ่งว่า สพฐ.กำลังสร้างความสับสนให้กับสำนักพิมพ์ที่ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียน รวมถึงสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ เพราะทราบมาว่า ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. มีนโยบายให้ตรึงราคาแบบเรียน และได้ทำหนังสือขอความร่วมมือสำนักพิมพ์ให้ตรึงราคาหนังสือเรียนในปีการศึกษา 2558 ไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหากับงบประมาณจัดซื้อหนังสือเรียนไม่เพียงพอ แต่สวนทางกับการปฏิบัติของผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา โดยขณะนี้ ทางสำนักวิชาการฯได้นำรายชื่อหนังสือเรียนที่ขึ้นราคาออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้สถานศึกษาต่างๆเข้ามาดูและใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเลือกซื้อหนังสือเรียน ดังนั้น ดร.กมลในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดใน สพฐ.น่าจะต้องดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใดออกมาให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นฝ่ายปฏิบัติก็จะสับสน และจะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน.
ที่มา http://www.thairath.co.th/content/483813
0 comments:
Post a Comment