Home » » เสี่ยงเงินฝืด!! เงินเฟ้อ ก.พ.ติดลบ สูงสุดรอบ 5 ปี 5 ด.

เสี่ยงเงินฝืด!! เงินเฟ้อ ก.พ.ติดลบ สูงสุดรอบ 5 ปี 5 ด.

Written By Unknown on Tuesday, March 3, 20153:40:00 PM


เงินเฟ้อ ก.พ. ลดลง 0.52% ทุบสถิติสูงสุดรอบ 5 ปี 5 เดือน “พาณิชย์” หั่นเป้าเงินเฟ้อ 58 เหลือ 0.6-1.3% ชี้เข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ รอประเมินหลังราคาน้ำมันดิบนิ่งแล้ว...

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ.58 ว่า เท่ากับ 106.15 ลดลง 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.57 ซึ่งเป็นการติดลบ 2 เดือนต่อเนื่อง และติดลบสูงสุดรอบ 5 ปี 5 เดือน ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.58 เพิ่มขึ้น 0.12% ขณะที่ดัชนีเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) 58 ลดลง 0.47%

ส่วนสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง 0.52% เป็นผลจากสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.71% จากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 20.92% เป็นสำคัญ แต่ค่าโดยสารสาธารณะราคาเพิ่มขึ้น 1.26% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่มขึ้น 1.33% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.72% จากการเพิ่มขึ้นของอาหารบริโภคนอกบ้าน 3.74% อาหารบริโภคในบ้าน 3.07% เครื่องประกอบอาหาร 2.94% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 0.97%

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกเป็นรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 165 รายการ เช่น ยาสีฟัน ผงซักฟอก เครื่องประกอบอาหาร ค่าเช่าบ้าน ผลไม้ ค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีราคาคงที่ 184 รายการ และสินค้าราคาลดลง 101 รายการ

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรก ปี 58 จะลดลง 0.4% เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ต่ำลง และรัฐบาลปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. รวมทั้งรัฐบาลมีมาตรการดูแลระดับราคาสินค้าให้กับประชาชน แต่หลังจากไตรมาสแรก เชื่อว่าเงินเฟ้อจะเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขยับ ส่งผลเงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ปรับประมาณการณ์เป้าหมายเงินเฟ้อปี 58 ใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.8-2.5% เหลือ 0.6-1.3% ภายใต้สมมุติฐานใหม่ คือ ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-35 บาท/เหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4%

“เหตุผลที่อัตราเงินเฟ้อลดลงมามาก มาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจัยหลักๆ คือราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลดลงมาก ถามว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันให้นิ่งกว่านี้ ถึงจะประเมินได้ เพราะน้ำมันที่ลดลงเป็นผลต่อต้นทุนสินค้าด้วย แต่ก็ยอมรับว่าคนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น”.



ที่มา:  http://www.thairath.co.th/content/484501

0 comments:

Popular Posts