ผลกระทบจากการวางท่อก๊าซ ตามโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง–แก่งคอย) ช่วงที่ผ่านพื้นที่ตำบลดงขี้เหล็ก และตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ยังมีชาวบ้านร้องเรียนเข้ามาเป็นระลอก
“สกู๊ปหน้า 1” ได้ลงไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้างฯอีกครั้ง เพื่อให้ประจักษ์ว่ามีการชะลอโครงการก่อสร้างตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติบอกหรือไม่ พบว่ายังดำเนินการก่อสร้างเหมือนเดิม การกระทำดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ์ได้เข้มแข็งขึ้น เห็นได้จากมีการตั้งเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ และเคลื่อนไหวอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง
อย่างเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านรวมตัวกันหยุดการทำงานของเจ้าหน้าที่ ปตท.ได้ในบางจุด ทั้งเขตตำบลดงขี้เหล็กและเนินหอม ตัวแทนชาวบ้านยืนยันว่า ถ้ายังตกลงเรื่องค่าเสียหายไม่ได้ ก็จะไม่ยอมให้ดำเนินการต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เคยได้รับความกระจ่าง ทั้งเรื่องการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และคำอธิบายเรื่อง “การรอนสิทธิ์”
หลังกรรมการสิทธิ์ฯให้ชะลอโครงการ “ยังทำกันทั้งวันทั้งคืน มีทั้งเชื่อมท่อและกลบฝัง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” นางทองใสยืนยัน
นางทองใส เม่นชาวนา อยู่บ้านเลขที่ 164/2 หมู่ 10 ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมืองปราจีนบุรี เธอยืนยันแล้วอธิบายต่อว่า เมื่อเข้าไปถามว่า “กรรมการสิทธิ์ฯสั่งให้หยุดแล้ว ทำไมถึงทำอยู่ได้ เขาก็บอกว่าอำเภอไม่สั่งมา เมื่อไปถามอำเภอ ทางอำเภอก็บอกว่า ไม่มีอำนาจสั่ง ปตท.ให้หยุดงานได้ กลัวโดนฟ้อง” นางทองใสยืนยัน
และบอกอีกว่า ครอบครัวเธอเสียที่ดินเพราะถูกรอนสิทธิ์ไป 3 งาน 88 ตารางวา
ขณะที่นายประสิทธิ์ แก้วหนอง หนึ่งในแกนนำเครือข่าย เสริมว่า ปัญหาของ ปตท.คือ จ่ายค่าเยียวยาให้ชาวบ้านไม่ครบ ลดขนาดต้นไม้ของชาวบ้าน ต้นไม้ชาวบ้านเลี้ยงไว้ใหญ่โตแล้ว กลับตีราคาให้เป็นต้นไม้ขนาดเล็ก และปัญหาที่ชาวบ้านทั้งตำบลดงขี้เหล็กและตำบลเนินหอมพบเหมือนๆกันก็คือ ทาง ปตท.ไม่อธิบายเรื่องการ “รอนสิทธิ์” ให้ชาวบ้านเข้าใจก่อนเข้าดำเนินการ
“ที่เขาทำประชาพิจารณ์กัน ชาวบ้านที่เสียหายไม่ได้ร่วมรับรู้ และร่วมแสดงสิทธิ์เลย” นายประสิทธิ์ยืนยัน
ด้านนายประสงค์ ปล้องทอง อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 88/3 หมู่ 12 ตำบลดงขี้เหล็ก บอกว่า ขุดบ่อน้ำไว้ ป้องกันน้ำไม่พอใช้รดต้นไม้ ถึงเวลาขุดวางท่อ ปรากฏว่าบ่อถูกทำลายไป ได้รับการติดต่อว่าจะจ่ายให้ 1 แสนบาท แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ไม่ได้ค่าเสียหาย “เราไปถามเขาก็โยนกันไปโยนกันมาระหว่างคนของ ปตท.กับผู้รับเหมา” เอ่ยพลางถอนหายใจ
ขณะที่นางอำพร ความเพียร อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 หมู่ 16 ตำบลเนินหอม เข้ามาบอกว่า ได้รับความเสียหายจากโครงการหลายอย่าง เช่น บ่อน้ำขุดไว้ใช้รดต้นไม้ ถูกผู้ทำงานตามโครงการแอบขุดระบายน้ำออกไปเพื่อวางท่อ ทำให้เธอจำต้องปล่อยสวนโมกข์และไผ่ตง 40 ไร่ ยืนรอน้ำอย่างเหี่ยวเฉา
ระหว่างการขุดเจาะยังนำขยะมาถมทิ้งในพื้นที่ ปล่อยสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้าระเกะระกะ ทำให้ไฟฟ้ารั่ว ครั้นเธอถูก “ไฟช็อต” เข้าไปฟ้องร้องกับผู้รับเหมาหน้างานก็กลายเป็นเรื่องตลกไป หาว่าไม่มีไฟช็อต มีแต่ “ไฟดูด” และมรสุมที่ลูกผู้หญิงอย่างเธอไม่อาจยอมได้คือ ถูกลวนลามจากผู้ปฏิบัติงาน
เสียงฟ้องร้องของเธอสั่นเครือ ดวงตาแดงก่ำด้วยความรันทดใจ
ด้านนายประสิทธิ์ แก้วหนอง บอกว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรวมตัวกันได้กว่า 60 ราย ตั้งเป็นเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการวางท่อก๊าซ แล้วร่วมกันเสนอปัญหาให้ ปตท.แก้ไขทั้งหมด 9 ข้อ “ผมยืนยันว่า ถ้า ปตท.ทำครบทั้ง 9 ข้อนี้ ชาวบ้านทั้งสองตำบลจะไม่มีใครขัดขวางหรือว่ามีปัญหาอีกเลย เพราะปัญหาทั้งหมดที่เราเสนอนี้ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง”
ข้อเสนอทั้ง 9 ข้อของเครือข่ายฯ คือ 1.ปตท.ต้องทบทวนในการเปลี่ยนแปลงแนวท่อก๊าซ โดยกลับไปยึดแนวถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33) 2.ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยในพื้นที่รอนสิทธิ์ (ที่ดิน) ดังนี้ ประการแรก จะต้องให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเข้ามาถือหุ้น เช่น อย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นในระยะทาง 10 กม. ประการที่สอง ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยในพื้นที่รอนสิทธิ์เป็นค่าเช่า เช่นเดียวกับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ เนื่องจากการดำเนินงานของ ปตท. แม้จะอ้างว่าเป็นการพัฒนาประเทศ แต่ผลกำไรกลับอยู่ในมือผู้ถือหุ้นที่ได้กำไรปีๆหนึ่งนับแสนล้าน ประการที่สาม ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยในพื้นที่รอนสิทธิ์ 15 เท่าของราคาที่ประเมินที่ดิน
3.ปตท.จะต้องทำการตรวจสอบค่าชดเชยต้นไม้ในพื้นที่รอนสิทธิ์ร่วมกับชาวบ้าน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกราย
4.ปตท.จะต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายนอกเขตรอนสิทธิ์ ที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ ปตท. เช่น ดินไหลเข้ามาทับต้นไม้ ทับกระท่อมเฝ้าสวน ลงบ่อเลี้ยงปลาทำให้ปลาตาย วางท่อก๊าซขวางทางน้ำหลาก ทำให้น้ำท่วมพื้นที่ทำกิน ฯลฯ
5.ปตท.จะต้องจ่ายค่าเยียวยาในกรณีการก่อสร้างล่าช้า ทำให้เจ้าของที่ดินสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพเป็นระยะเวลา 2 ปี
6.ปตท.จะต้องชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่มีการกลบฝังท่อก๊าซแล้ว โดยใช้ดินก้นบ่อซึ่งไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน และเจ้าของที่ดินได้รับผลกระทบ ขอรับเป็นเงินเพื่อนำไปจัดหาหน้าดินมาทำการถมปรับพื้นที่เอง ในอัตราค่าดินคันรถละ 3,000 บาท (10 คิว)
7.ปตท.จะต้องทำประกันให้กับเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินในพื้นที่ที่มีแนวท่อก๊าซผ่าน
8.ปตท.จะต้องรับรองสิทธิ์ในที่ดิน เพื่อให้เจ้าของที่ดินสามารถนำไปทำธุรกรรมได้
และ 9.การกำหนดอัตราค่าชดเชยต่างๆ จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของชุมชน มิใช่กำหนดจาก ปตท.หรือคณะกรรมการที่ผู้เสียผลประโยชน์ไม่มีส่วนร่วม และการรับค่าชดเชยใหม่นี้ เจ้าของที่ดินขอยืนยันเจตนารมณ์ ขอรับพร้อมกันทุกราย
การเคลื่อนไหวของชาวบ้าน นอกจากร้องคณะกรรมการสิทธิ์แล้ว เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ได้รวมตัวกันไปยื่นรายชื่อตัวแทนชาวบ้านจำนวน 6 คน เพื่อเข้าร่วมเป็นคณะทำงานที่ทางจังหวัดกำลังจะจัดตั้งไตรภาคีขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน
การเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้มีนิติกรของศูนย์ดำรงธรรมเป็นตัวแทนรับเรื่องไว้ จึงยังไม่ทราบถึงระยะเวลาในการจัดตั้ง และรายชื่อของคณะทำงาน เพราะเป็นเพียงการรับเรื่องไว้เท่านั้น
ล่าสุด นายประสิทธิ์บอกว่า หลังจากที่ชาวบ้านราว 60 ราย ในพื้นที่สองตำบลร่วมกันต่อต้าน ผู้ดำเนินโครงการได้ชะลอการทำงานลงไปบ้าง แต่ยังไม่ได้หยุดงาน
จึงยืนยันว่า “ตราบใดที่ ปตท.ยังไม่ให้ความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน ต้นไม้ และการเสียโอกาสในที่ทำกิน ชาวบ้านจะพร้อมกันต่อต้านต่อไป”.
0 comments:
Post a Comment