Home » » นักวิชาการหนุนสอบโอเน็ด ๕กลุ่มสาระ

นักวิชาการหนุนสอบโอเน็ด ๕กลุ่มสาระ

Written By Unknown on Thursday, March 5, 20159:56:00 AM

วันนี้ (3 มี.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้หารือกรณีคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(บอร์ด สทศ.) มีมติให้สทศ.จัดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต จำนวน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ วิชาคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา  ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ คือ ศิลปะพลศึกษา สุขศึกษา และ การงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลเรื่องดังกล่าวแล้ว เพื่อให้การจัดสอบเป็นไปตามมาตรฐาน เพราะ สพฐ.จะไม่ปล่อยให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเอง โดยมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต เป็นผู้รับผิดชอบกำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการ การวัดผลประเมินผลและออกข้อสอบกลางที่เหมาะสมในแต่ละเขตขึ้น ดังนั้นแต่ละเขตพื้นที่จะมีข้อสอบกลางฉบับเดียวและใช้สอบร่วมกันทั้งเขต 

"การสอบโอเน็ตทั้ง 3 วิชา สพฐ.ไม่อยากออกข้อสอบเองจากส่วนกลาง หรือ หากให้โรงเรียนออกเอง มาตรฐานของของข้อสอบก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงให้เขตพื้นที่ฯรับผิดชอบออกข้อสอบจะดีกว่า ซึ่งสามารถคุมมาตรฐานได้ ขณะเดียวกันโรงเรียนขนาดเล็กที่มีปัญหาเรื่องการจัดสอบและออกข้อสอบก็สามารถใช้ข้อสอบของเขตพื้นที่ฯได้ด้วยเช่นกัน"ดร.กมล กล่าว   

ศ.ดร.สมพงษ์  จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเห็นด้วยที่จะให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้ออกข้อสอบ แต่สพฐ.จะต้องดูแลเรื่องของมาตรฐานการออกข้อสอบให้มีคุณภาพ สามารถนำคะแนนไปใช้ในการเข้าเรียนต่อได้ และไม่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการปล่อยเกรด ออกข้อสอบง่ายเกินไป หรือให้คะแนนช่วยเหลือกัน  ขณะเดียวกันหากเกิดความผิดพลาด หรือ มีข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตเขตพื้นที่ฯก็ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามสำหรับทั้ง 3 วิชานี้ ตนเห็นว่าไม่ควรจะออกข้อสอบที่เน้นเนื้อหามากเกินไป  ควรสอบภาคปฏิบัติที่วัดทักษะการเรียนรู้เจตคติ รวมถึงการสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนให้มากขึ้นด้วย แต่ก็ยอมรับว่าการวัดผลภาคปฏิบัติเป็นเรื่องค่อนข้างยาก แต่ถ้าสพฐ.สามารถจัดสอบได้อย่างมีมาตรฐาน เชื่อว่าจะสามารถยกระดับการศึกษาไทยให้ดีขึ้นได้ 







ที่มา:    http://www.dailynews.co.th/

0 comments: